สงสัยมั้ยคะว่า กฎหมาย E-Signature คืออะไร?
แค่ใช้ E-Signature กฎหมายก็คุ้มครองจริงหรือไม่ ?
มาร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน
กฎหมาย E-Signature คืออะไร
ก่อนที่จะทำความรู้จักกับกฎหมาย E-Signature เรามาทำความเข้าใจกับ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กันก่อนว่าคืออะไร และเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
เริ่มกันที่ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature)
คือ เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น สามารถใช้เป็นตัวเลข อักขระ อักษร หรือสัญลักษณ์ต่างๆ มาสร้างเป็นชุดข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และใช้เทคโนโลยีในการเข้ารหัสสำหรับยืนยันความเป็นเจ้าของ ทำให้มั่นใจ และตรวจสอบได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เป็นกฎหมายกลางที่รองรับข้อมูล และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) ให้มีผลผูกพันและบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกันกับการยืนยันตัวบุคคลด้วยการใช้ปากกาเซ็นลงในกระดาษ
ดังนั้น กฎหมาย E-Signature
ก็คือกฎหมายที่รองรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) อย่างถูกต้อง และสามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) นั้นมาจากเจ้าของตัวจริงๆ และมีความน่าเชื่อถือพอที่ใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้
แค่ใช้ E-Signature กฎหมายก็คุ้มครองจริงหรอ ?
ตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มีผลใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาเกือบจะ 20 ปีแล้ว กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนบางครั้งเราเองอาจมีการแสดงเจตนาตกลงทำสัญญาบางเรื่องไปแล้ว โดยไม่รู้ตัว ดังเช่นกรณีข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ว่า
“การที่เจ้าหนี้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงลูกหนี้ว่ายกหนี้ให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อเจ้าหนี้ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วย และเมื่อเจ้าหนี้ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงลูกหนี้จริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้”
จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแม้เป็นเพียงการโต้ตอบกันทางเฟสบุ๊คก็ทำให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันได้ เนื่องจากการรับส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการกระทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมาตรา 7 ของกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”
และมาตรา 8 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”
และแม้ว่าข้อความทางเฟสบุ๊คจะไม่มีการลงลายมือชื่อเจ้าหนี้ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊ค ที่ปรากฏชื่อผู้ส่ง และผู้ส่งยอมรับว่าได้ส่งข้อความจริง การกระทำดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) แล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 บัญญัติว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
หลักเกณฑ์กฎหมาย E-Signature
ตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ถือเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปตามมาตรา 9 โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- สามารถระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากการส่งข้อความทางเฟสบุ๊คมีชื่อผู้ส่ง ประกอบผู้ส่งก็ยอมรับเองว่าเป็นผู้ส่งข้อความจริง
- เจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องแสดงเจตนาที่จะลงลายมือชื่อนั้นอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คที่เป็นเจ้าหนี้ ได้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงลูกหนี้ โดยมีข้อความแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้
- ต้องมีลักษณะเป็นลายมือชื่อดิจิทัล (Digital signature) หรือใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงและรัดกุมของวิธีการที่ใช้ ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทำ และความรัดกุมของระบบติดต่อสื่อสาร ซึ่งในการเข้าใช้เฟสบุ๊คต้องมีการลงทะเบียน กำหนด User Name และ Password ก่อนเข้าใช้ จึงเป็นการใช้วิธีการที่น่าเชื่อถือได้พอสมควร ประกอบกับเมื่อผู้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คยอมรับว่าเป็นผู้ส่งข้อความจริง จึงสามารถยืนยันตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อได้อย่างปราศจากข้อสงสัย
Digital Signature ไม่เหมือนกับ Electronic Signature
เพราะ Digital Signature ไม่ได้เป็นการเซ็นต์ด้วยปากกาบน Tablet แต่เป็นการใช้ ข้อมูล CA Stamp ลงในเอกสาร
- ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยของเอกสาร
- ลายเซ็นดิจิทัลได้รับอนุญาตและควบคุมโดยหน่วยงานออกใบรับรอง
- ประกอบด้วยคุณลักษณะด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม
- ลายเซ็นดิจิตอลประเภททั่วไปนั้นใช้ Adobe และ Microsoft
- สามารถตรวจสอบลายเซ็นดิจิทัลได้
- ต้องการมากกว่าลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากระดับความถูกต้องสูง
- ความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของเอกสาร
ประโยชน์ของ ดิจิตอล ซิกเนเจอร์
- หยุดพิมพ์และสแกนลายเซ็น
- ประหยัดเวลาของคุณ – ส่งเอกสารสำหรับการลงชื่อเข้าใช้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง
- สำหรับทุกขนาดธุรกิจ ใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์
- ได้รับการยอมรับตามกฎหมายและมีหลักประกัน
- สามารถยืนยันได้ 100 % ว่าเป็นเอกสารจริงจากหน่วยงาน
- สามารถป้องกันการแก้ไขข้อมูลของเอกสาร ได้ 100 %
- ลดเจ้าหน้าที่ในการจัดการเอกสาร
- ไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวน ลายเซ็นเอกสาร
- มีระบบติดตามเอกสารที่ยังไม่ได้เซ็นต์
- ลดกระดาษ
รูปแบบของการนำไปใช้มี ตัวอย่างดังนี้
- แบบประหยัดทำระบบเองภายในบริษัท เช่น เอกสารสรุปรายงาน เอกสารที่ต้องการป้องกันการแก้ไข ( ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่สามารถตรวจสอบได้ว่า เอกสารเป็นตัวจริงหรือไม่ )
- แบบใช้ระหว่างหน่วยงาน บริษัท แต่ไม่ต้องการให้มีผลทางกฎหมาย เช่น PO ที่ส่งให้ supplier
- แบบที่มีผลทางกฎหมาย เช่น เอกสาร invoice
- การออกเอกสารรับรองผลการเรียนของ สถานศึกษา ปัจจุบัน ทางมหาลัยจุฬา ใช้ระบบแบบนี้อยู่