e-Tax Invoice
การจัดทำใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) โดยการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ตามประมวลรัษฎากร[i] มาตรา 86 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้น แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการที่กฎหมายบังคับให้ต้องจัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และต้องส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าด้วยนั้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทําธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จึงถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว เนื่องจากตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม[i] ได้บัญญัติรับรองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ตามมาตรา 7 ว่า
“ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพัน และการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด
เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”
และตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ว่า
“ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการ
พิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด
เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”
ปัจจุบันกรมสรรพากร ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร(ฉบับที่ 15) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562[i] กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ ใบกำกับภาษีที่ได้มีการจัดทำข้อความ ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึง และนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบใบกำกับภาษีจากที่เคยเป็นกระดาษไปเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ นั่นเอง
ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่ลงในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 15)ฯนั้น เป็นการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภท “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ซึ่งใช้ใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง” ซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 26 และอาศัยใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
ข้อดีของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
1. ลดความซํ้าซ้อนและขั้นตอนการดําเนินงาน
2. ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร
3. ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร
4. สะดวก และลดระยะเวลาในการค้นหาเอกสาร
5. ลดภาระผู้ประกอบการในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเมื่อกรมสรรพากรได้รับข้อมูลภาษีซื้อ-ภาษีขายทางอิเล็กทรอนิกส์ครบถ้วนแล้ว ระบบจะจัดทำรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขายได้โดยอัตโนมัติ (Electronic VAT Report)
การยื่นคำขอ
ผู้ที่ประสงค์จะจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามแบบ บ.อ.01 ท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร(ฉบับที่ 15)ฯ โดยยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำการยืนยันตัวตนโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority)
คุณสมบัติผู้ยื่นคำขอ
1. เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(6)
2. มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority)
3. มีระบบงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำและส่งมอบให้แก่ผู้รับมีข้อความถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกับขณะที่สร้าง ส่ง และรับ โดยใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ และสามารถแสดงข้อความได้ในภายหลังโดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งสามารถพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยไร้ร่องรอย หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารที่ออกระหว่างทาง
ซึ่งเมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับอนุมัติจากอธิบดีกกรมสรรพากร ให้เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็จะมีสิทธิจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้
การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
1. จัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการที่เป็นสาระสำคัญตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/4 เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
2. ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อาจกำหนดให้มีรายการอื่นใดในใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นอกจากรายการที่เป็นสาระสำคัญตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/4 ก็ได้
3. นำข้อมูลตาม ข้อ 1 และข้อ 2 มาคำนวณทางคณิตศาสตร์เข้ารหัสอัลกอริทึมแบบอสมมาตร (Asymmetric Key Algorithms) บนพื้นฐานวิทยาการเข้ารหัสลับ (Encryption) และใช้กุญแจส่วนตัว (Private Key) ที่เป็นคู่กับใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ซึ่งผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority) ได้ออกให้แก่ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งยังไม่หมดอายุในขณะสร้างลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) และขณะส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. นำลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ตามข้อ 3 ส่งไปพร้อมข้อมูลตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
การส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากร
ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือน โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยอาจส่งข้อมูลโดยวิธีการอัปโหลด (Upload) หรือการส่งข้อมูลแบบ Host to Host ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลของผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการ (TRADE SERVICES MESSAGE STANDARD) (ขมธอ.3-2560) ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560[i]
หรือตั้งผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวแทนส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากรก็ได้ ซึ่งการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศสำหรับผู้ให้บริการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (INFORMATION SECURITY FOR DATA MESSAGE GENERATION, TRANSFER AND STORAGE SERVICE PROVIDERS) (ขมธอ. 21-2562) ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562[ii]
นอกจากใบกำกับภาษีที่สามารถทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งกรมสรรพากรได้แล้ว ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร, ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร, ใบลดหนี้ (Credit Note) ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และใบรับ(Receipt) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ก็สามารถทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และนำส่งกรมสรรพากรได้ด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
[i] https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=617709&ext=pdf
[i] https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=570721&ext=pdf
[i] https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dgg15.pdf
[i] https://standard.etda.or.th/wp-content/uploads/2019/03/20170120-ER-EINVOICEV2-V08-16F-0711.pdf
[ii] https://standard.etda.or.th/wp-content/uploads/2019/05/20180702-ER-ServiceProvider-Security-V08-24F.pdf